วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ศิลปะกับชีวิต

ศิลปะกับชีวิต
  • อาจารย์สืบสกุล ศรัณพฤฒิ
  • อาจารย์สอนพิเศษสาระศิลปะ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
           ในปีพ. ศ. 2523 ตอนนั้นผมอายุได้ 8 ปี ภาพของเด็กคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดวาดรูปที่ต่างประเทศปรากฎอยู่บนบอร์ดตรงหน้าในโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ทำให้ผมอิจฉาตาร้อนอยากเป็นอยากได้อย่างนั้นบ้าง ผมก็เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ อีกหลายคนในวัยเดียวกันที่ชอบวาดรูปเวลาไม่มีอะไรทำ ในชั่วโมงเรียนผมจะวาดไปเรื่อย ๆ ตามที่ครูสั่งให้วาดนั่นวาดนี่ ในรูปวาดของผมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนที่ประสบพบเห็นมาในแต่ละวัน

             วันหนึ่งคุณครูศิลปะได้คัดรูปวาดที่สั่งให้เด็กนักเรียนวาดกันในห้อง เอาไปประกวดศิลปะเด็กแห่งประเทศไทย มีงานของผมรวมอยู่ด้วยชิ้นหนึ่ง ผลปรากฎออกมาผมกับเด็กอีกหลาย ๆ คนได้รับรางวัลกันมากมายแม้รางวัลที่ผมได้เป็นรางวัลปลาย ๆ แถวแต่ผมก็ดีใจเพระาในชีวิตนอกจากสอบได้ที่ 9 ของห้องแล้ว และถือพานแล้ว ชีวิตก็ไม่มีอะไรพิเศษ พ่อแม่ก็ดีใจกับผมแต่คงอยากให้สอบได้ที่ 1 หรือได้เหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิกมากกว่า

             หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา คุณครูศิลปะก็จับผมไปฝึกหัดวาดรูปในตอนเย็น ๆ กับเพื่อนหลายสิบคนเหมือนเข้าค่ายซีเกมส์ ผมได้เห็นเด็ก ๆ คนอื่นที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในระดับโลก ระดับประเทศมาร่วมวงฝึกหัดและผมได้เห็นพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นเข้ามาบงการชีวิตของพวกเขา ผมจึงได้รู้ความจริงบางอย่างว่าทำไม่เขาได้รางวัลใหญ่มากมาย ถ้าพ่อแม่วาดได้เองก็คงวาดให้ไปแล้ว และเมื่อวันเวลาผ่านไป เขาเหล่านั้นไม่เคย ปรากฎชื่อเสียงขึ้นเลยในวงการศิลปะเมื่อเติบใหญ่

           คุณครูให้ผมได้ประกวดรูปสดตามที่ต่าง ๆกับเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งฝีมือดีกว่าผมมากมาย พวกเขามีแบบร่างมาจากบ้าน ผมไม่มีเพราะพ่อแม่ผมวาดรูปไม่เป็น การต่อสู้กันยาวนานมากกรอบประกวดของจังหวัด สิ้นสุดวันสุดท้าย 25 พฤศจิกายน 2524 หน้าศาลว่าการจังหวัดเก่า หน้าเทวาลัยพระพิฆเนศวร์ ผมได้ที่1

           หลายปีต่อมาผมสอบเข้าที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร สิ่งที่ติดตัวมาคือการวาดรูป ผมทำได้ดีกว่าวิชาอื่นเสมอ ที่โรงเรียนนี้มีคุณครูสอนศิลปะหลายคน สอนกันหลายรูปแบบ มีครูคนหนึ่งตอนนี้ท่านไปบวชเป็นเจ้าอาวาสวัดป่า ที่อำเภอกำแพงแสน ท่านทำให้เห็นความประหลาดใจของชีวิต ตอนที่ท่านเอาของใช้ส่วนตัวมาวางไว้ที่ห้องศิลปะเก่า ๆ ที่เป็นโรงไม้ใหญ่โต ให้คนมาหยิบเอาไม่ก่อนที่ท่านจะบวช

           ผมหยิบเอาหนังสือวาดสีน้ำและรวมงานศิลปกรรมแห่งชาติมาสองเล่มอีกสิ่งหนึ่งคือไม้ง่ามที่คุณครูใช้สอนตอนวิชาลูกเสือ ง่ามไม้อันนี้ผมประทับใจในลวดลายที่สลักเสลาโดยรอบด้วยความตั้งใจในสิ่งเล็กน้อย ๆ น้อย ๆ ของคนที่มีศิลปะในหัวใจผมชำเลืองมองง่ามไม้อันนี้เสมอในยามที่เข้าแถวในกองลูกเสือ ผมยังเชื่อว่าการบวชของครูคืองานศิลปะแบบคอนเซปชวลที่ต้อทำทั้งชีวิต

            คุณครูที่เข้ามาสอนแทนที่คุณครูท่านที่ลาบวชไปจบมาจากคณะจิตรกร ฯมหาวิทยาลัยศิลปากร สัมผัสแรกที่ผมได้พบ ผมกับเพื่อนที่เล่นบอลกันอยู่ในสนามนึกว่าเป็นครูสอนพละที่เข้ามาใหม่ในตอนนั้นอีกคน เพราะคุณครูเข้ามาสอนพื้นฐานทางฟุตบอลให้ผมและเพื่อน ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ร่ำเรียนกันจริง ๆ จัง ๆ เลย 5 ปีที่ร่ำเรียนกับครูผมยังเห็นครูเล่นฟุตบอลเสมอแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเมื่อวันวานผมยังเห็นครูวิ่งจ๊อกกิ้งเหมือนการเตรียมตัวจะไปเล่นฟุตบอลตลอดเวลา

          ในปี 2530 เมื่อผมอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 4 ผมเลือกเรียนวิชาศิลปะซึ่งมีคุณครูซึ่งจบการศึกษามาจากศานตินิเกตัน (Santiniketan) มาสอน เราเคยพบกันในวัยที่ผมเข้ามาเรียนใหม่ ๆ ทุก ๆ ชั่วโมงบรรยายคุณครูจะชอบพูดถึงกิจกรรมต่าง ๆ อันสนุกสนานของนักศึกษาศิลปากรที่ประสบพบเห็นมา เรื่องราวเหล่านี้เร้าใจเด็กหนุ่มอย่างผมและเพื่อนสองสามคนในห้องมาก และตกลงใจกันสามคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรคณะจิตรกรรม ฯ ในเวลาต่อมา แต่สำหรับผมนั้นมีนอกเหนือจากนั้นผมขอบไปคุยกับคุณครูคนนี้เสมอ ในยามพักเที่ยงหรือว่าง ๆ สิ่งที่ผมชอบไปคุยคือเรื่องราวจากประเทศอินเดียและเรื่องราวของชีวิตชาวศิลปะ คุณครูจะหยิบบุหรี่ก้นกรองไม่มีเมลทอลอัดควันเข้าปอดแล้วพ่นกลับไปในบรรยากาศพร้อมกับสนทนาในเรื่องราวที่ผมอยากฟังเคล้ากับเสียงเพลงของวงเดอะบีเทิล

           ความรู้สึกของผมเมื่อพบกับคุณครูในครั้งแรกผมได้ยินเสียงเพลง ๆ หนึ่งแว่วมาจากโรงอาหารที่มีเวทีด้านบน ตอนนั้นผมยังเด็กมากประมาณมัธยม 1 หรือ 2 ผมสนใจมากเลยเข้าไปซักถามว่าเพลงนี้คือเพลงอะไร

          เพลง Imgine คือคำตอบว่าผมไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ หลังจากนั้นผมได้ทำความรู้จักกับ John Lennon และเดอะบีเทิลผ่านคุณครูศิลปะคนนี้ แม้ว่าในเวลาเติบใหญ่ผมจะค้นพบว่าวงเดอะบีเทิลก็เป็นวงคิกคุวงหนึ่ง ซึ่งบิดผันตัวเองด้วยความบ้าระห่ำจนกลายเป็นตำนานของโลกดนตรีตลอดยุคหลังสมัยใหม่นี้ แต่มันก็ทำให้ผมระห่ำที่จะทำอะไรแปลกจนได้ดี เหมือนกับวงดนตรี อย่างวง Oasis หรือ Blur ที่ได้รับอิทธิพลมาจนเป็นตำนานหนึ่งของโลกหลังสมัยใหม่ (Post Moderm)

           เป็นสิ่งที่น่าเหลือเชื่อจากเรื่องราวสนุกสนานของชีวิตนักศึกษาศิลปะจากปากคำของคุณครู และหนังสือ “ กลิ่นสีและกาวแป้ง” ที่มีเรื่องราวที่ไม่ผิดเพี้ยนจากที่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง และจากการเคี่ยวกรำทางภาคปฏิบัติของครูศิลปะในคราบนักฟุตบอล และเดอะบีเทิล ผมจึงมายืนอยู่หน้าอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ในวันเปิดภาคการศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2533 ผมและเพื่อน ๆ ที่ตั้งใจเข้ามาเรียนที่นี่ 3 คน ทยอยเข้ามาเรียนจนครบด้วยแรงบันดาลใจต่าง ๆ กัน

          5 ปี ในมหาวิทยาลัยผมได้เรียนศิลปะและวิชาอื่น ๆ อย่างเต็มที่ผมได้พบกับอาจารย์พิษณุ ศุภ ผู้เขียนเรื่องกลิ่นสีและกาวแป้ง ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกับในนิยายสนุกสนานที่ได้อ่าน เราจะต้องเจอความทุกข์ที่จะกลายเป็นเรื่องสนุกเมื่อยามนึกถึง ความผันต้องแลกมาด้วยความขยันทะเยอทะยานและบางทีต้องเดียวดายมิตรภาพจากคนต่างที่ต่างอายุมักสอดรับกันยาก ความทรงจำในวัยเด็กกับเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกันสำหรับบางคนอาจมีค่ากว่าชีวิตในเมืองหลวงและคนหน้าใหม่ การเรียนศิลปะไม่สนุกอย่างที่คิด

            ปี 2538 ผมเรียนจบออกมาตามเกณฑ์ ผมนึกทบทวนว่าเรายังต้องทำอะไรบ้างในชีวิต ผมใช้เวลาไปกับการวาดรูปทิวทัศน์ รูปปลาทอง ถ่ายรูป และเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ไม่ได้รับจากมหาวิทยาลัย ผมใช้ชีวิตไปเรื่อยเริ่มจากเดิน แล้วขี่จักรยาน ผมหารายได้จากการรับวาดรูปติดบ้านเศรษฐีขายของแบกะดิน ดีเจในดิสโก้เธค นายหน้าขายงานศิลปะ ครูสอนศิลปะ ผมทำในสิ่งที่อยากทำ หรือพอทำได้

            ในเวลาที่ความรู้เรามาก ๆ ผมก็จะไปติววิชาอารยะธรรมไทย ตะวันตก ตะวันออก ให้นักศึกษารุ่นน้องในหลาย ๆ คณะ เช่น อักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่ลงเรียน เป็นการเรียงลำดับความรู้ไปในตัว ในเวลานี้ผมรู้สึกว่าชีวิตของผมทางปัญญาเริ่มสมบูรณ์การเรียนรู้ยังมีต่อไป

            ปี 2546 หลังจากเรียนรู้เรื่องราวที่อยากรู้มา 8 ปี ผมตัดสินใจไปเรียนต่อที่ภาควิชาเดิมคณะเดิม เพราะอยากรู้ว่า 8 ปี ที่เราเรียนรู้มานั้นมันใช้การได้เพียงใด ผมสกรีนเสื้อยืดหนึ่งราวไปสอบพร้อมกับตัวงานต่าง ๆ ที่เคยทำผ่านมาใน 8 ปี อาจารย์ท่านก็ดีใจที่ผมมาเรียนจึงรับเข้ามา 2 ปี ที่ผ่านมาวิชาเอก และ โท และวิชาที่ตั้งใจ ได้เกรด A ทุกรายวิชาทำให้ทราบว่าความรู้ที่เราสั่งสมไม่เสียหาย

             ในเทอมหนึ่งใกล้ ๆ จะสิ้นสุดในวิชาพื้นฐาน ผมได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ทางศิลปะผู้สอน ท่านเป็นนักศึกษาคนแรกของศิลปากรที่จบปริญญาตรีและเกียรตินิยมอันดับ 1 ผมได้ถามเกี่ยวกับเรื่องราวของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จับได้ใจความว่า ท่านชอบคนทำงาน นิยมให้คนทำงานตามแต่ถนัด และจงทำงานไปเพราะชีวิตเรามันสั้น แต่ศิลปะนั้นมันยืนยาว และผมก็เล่าเรื่องในชีวิตของผมและสิ่งที่ได้ทำมา เช่นการทำพระไม้จากฟืนไปถวายที่ถ้ำกลางป่าริมแม่น้ำโขงในหลวงพระบาง หรือการใช้ชีวิตต่าง ๆ ที่ผ่านมา ท่านยิ้มและบอกว่ามันเป็นงานศิลปะ ผมนึกถึงเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งซึ่งผิดหวังจากการประเมินทางการศึกษาศิลปะ เขาได้แต่พร่ำบอกว่าศิลปะเป็นมายา พวกที่ทำได้แต่โง่หลงงมงาย ผมได้ไปคิดเป็นวัน ๆ ว่าจริงหรือ แต่มันอาจจะจริง แต่มายานี้ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์โลกทั้งปวง เราอาจจะบอกว่า ตื่นมากินข้าว ขี้แล้วทำงาน พลบค่ำหาความบันเทิง ตกดึกก็ร่วมสังวาส แล้วนอน แค่นี้ก็พอ ดูดี ๆ ก็ไม่ต่างจากแมวที่ผมเลี้ยงไว้ ศิลปะทำให้เราแตกต่างกว่า มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิต มีจุดมุ่งหมายในการอยู่ ศิลปะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นต่อไปในการมีชีวิต ศิลปะไม่ใช่การวาดรูปทุกวี่วัน หรือปั้นประติมากรรมแรมปี แต่เป็นการใช้ชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายปลายทางมีอุดมคติไม่ใช่ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ให้คนมีอำนาจในทุกทางชักไปทางนั้นทางนี้ หรือหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ไม่มีความหวังอะไรให้คุณเลย ขอให้คุณใช้ชีวิตให้มีศิลปะแล้วจะผ่านวันเวลาที่หนักหน่วงนี้ไป ได้เพราะชีวิตเรามันสั้น เกินกว่าที่จะรับรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น