วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จาก ‘ศิลปะ’ สู่ ‘ศิลปะบำบัด’

จาก ‘ศิลปะ’ สู่ ‘ศิลปะบำบัด’
สังคมไทยเรียนรู้อะไร

มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้คนทุกยุคสมัยว่า ….
            “นานเท่าใดแล้วมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลก”
            หากทว่าสำหรับผู้คนในแวดวงศิลปะ “ศิลปะอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้ยาวนานเพียงไร” ก็นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
จะกล่าวไปแล้ว ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงหลักฐานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ฟากตะวันตกนั้นได้สรุปว่า ศิลปะเกิดขึ้นอย่างยาวนานนับแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ นั่นหมายถึงเริ่มก่อนการบันทึกลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ ศิลปะในความหมายนี้ไม่เพียงภาพวาด (จิตรกรรม) เครื่องปั้น (ประติมากรรม) แต่อาจรวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยในยุคบุพกาล และการเต้นรำในพิธีกรรม
            หลักฐานพยานที่ปรากฎตามผนังถ้ำ ลายเส้นที่ใช้สีของดินชนิดต่างๆ ผสมกับยางไม้ หรือไขสัตว์ในดินแดนแถบฝรั่งเศส สเปน รวมทั้งเกาะซิชิลี ในประเทศอิตาลี ขณะที่ในโลกตะวันออก มีหลักฐานเกี่ยวกับศิลปะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน  ประเทศไทยเองมีภาพในผนังถ้ำทางแถบอุบลราชธานี และทางใต้ที่จังหวัดกระบี่ ที่วิจิตรล้ำค่าจนยากจะหา คำบรรยายใดๆ มาเปรียบเปรยได้
            ดังได้กล่าวมา ศิลปะจึงเป็นสัญชาตญาณแรกของมนุษย์พัฒนาควบคู่กับวิวัฒนาการมนุษย์นับแต่บรรพกาล ซึ่งมนุษย์ไม่ได้พัฒนาเพียงแค่รูปร่าง รูปทรงภายนอก หากแต่ จิตวิญญาณของมนุษย์ก็มีการพัฒนามาตลอด และนี่เองมนุษย์จึงต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นโดยสิ้นเชิง ดังนั้นประวัติศาสตร์ศิลปะจึงเป็นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งสะท้อนภาพจิตวิญญาณของมนุษย์แต่ละยุคสมัย 
            ด้วยเหตุนี้ หันกลับมาสังคมของเราบ้างในวันนี้ ผมมีข้อสรุปอันน่าเจ็บปวดว่า สังคมเราไม่ใช่ภาพของสังคมที่เกื้อกูลกัน อบอุ่น หรือถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอีกแล้ว ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม และปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ    ปรากฎขึ้นเด่นชัดประหนึ่งว่าภูมิต้านทานที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้ทั้งมิติของศาสนาในฐานะที่พึ่งของสังคม หรือเชิงวัฒนธรรมที่ผู้คนเคยพึ่งพาอาศัยกัน และเคารพในธรรมชาติ แทบจะปลาสนาการไปสิ้น ถ้ายังจะเหลือสิ่งดีๆ อยู่บ้างก็คือ ยังพอมีผู้คนบางส่วนสนใจและใส่ใจกับสิ่งทีเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น