วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อินสตอลเลชัน ศิลปะจัดวาง

อินสตอลเลชัน ศิลปะจัดวาง
Installation
 installation
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960-
อินสตอลเลชัน (Installation) หรือเป็นที่รู้จักในภาษาไทยว่า ศิลปะจัดวาง แรกเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 โดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป
หากแปลคำว่า อินสตอลเลชัน แบบตรงตัวจะหมายถึงการติดตั้ง ซึ่งกินความไปถึงการติดตั้งสิ่งต่างๆ ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ศิลปะ แต่ในความหมายที่เฉพาะลงมาในงานศิลปะแบบทัศนศิลป์แล้ว มันคือ งานศิลปะที่มีตัววัตถุทางศิลปะสัมพันธ์เฉพาะกับพื้นที่ (Site-Specific, ไซต์-สเปซิฟิค) ในความหมายนี้ อินสตอลเลชัน ถูกทำขึ้นสำหรับพื้นที่เฉพาะนั้นๆ เช่น ทำขึ้นเพื่อติดตั้งในแกลเลอรี พื้นที่กลางแจ้ง ความสำคัญของผลงานไม่ได้อยู่ที่ศิลปวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่ความสำคัญจะอยู่ที่การประกอบส่วนต่างๆ หรือ การจัดสภาพแวดล้อมทั้งหมด
อินสตอลเลชัน เป็นงานศิลปะที่ทำให้คนดูได้ประสบการณ์ในการอยู่ร่วม หรือการมีศิลปะแวดล้อมตัวผู้ดู เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังในพื้นที่สาธารณะและศิลปะในสถาปัตยกรรมทางศาสนาต่างๆ ที่มักจะมีลักษณะการจัดวางทุกอย่างโดยคำนึงถึงองค์รวม
แรกเริ่มของศิลปะประเภทนี้ สามารถสืบค้นกลับไปที่ศิลปะในยุค พ็อพ อาร์ต (Pop Art) เมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 ชิ้นงานที่ได้รับการกล่าวถึงที่สุดคือ พื้นที่ที่ อลัน คาโพรว (Allan Kaprow) ทำขึ้นสำหรับงาน แฮ็พเพ็นนิง (Happening) ของเขา และ งานที่ดูเป็นฉากผสมกับประติมากรรมของ เอ็ดวาร์ด เคียนโฮลซ์ (Edward Kienholz) งานที่ทำสภาพแวดล้อมเป็นแบบละครเวทีของ เร้ด กลูม (Red Groom) และผลงานชื่อ Ruckus Manhattan Store ของ เคลส์ โอลเด็นเบิร์ก (Claes Oldenburg) ที่ใช้ปูนปลาสเตอร์สร้างเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆจัดวางไปทั่วห้อง และ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ที่ติดภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนสีสดไปทั่วห้องจนกลายเป็นวอลล์เปเปอร์
งานในแนวนี้โดยมากมักจะขายไม่ได้ ทำการสะสมได้ลำบาก โดยมากจะจัดแสดงในระยะเวลาสั้นๆ แล้วแยกส่วน เหลือเพียงเอกสารข้อมูลที่บันทึกเอาไว้เท่านั้น ตลาดศิลปะที่ตกต่ำเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และการฟื้นกลับมาของ คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ทำให้ อินสตอลเลชัน เติบโตแพร่หลาย งานแนวนี้บางชิ้นก็สามารถขายได้ โดยมากจะต้องเป็นสถาบันอย่างพิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่พอจะมีที่ทางเก็บงานแบบนี้ ในทุกวันนี้คำว่า อินสตอลเลชัน บางทีก็ใช้กับงานที่จัดแสดงอย่างถาวร งานจัดวางเฉพาะที่ และงานประติมากรรมแบบสื่อผสมสำหรับติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ
ศิลปินในแนวนี้ที่มีชื่อเสียงในตะวันตก มีอาทิเช่น แมทธิว บาร์นีย์ (Mathew Barney), โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys), คริสเตียน โบลแทนสกี้ (Christian Boltanski), โจนาธาน โบรอฟสกี้ (Jonathan Borofsky), มาร์เซล บรูด์ทิเออรส์ (Marcel Broodthaers), โทนี บราวน์ (Tony Brown), คริส เบอร์เด็น (Chris Burden), วอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter de Maria), เทอร์รี ฟ็อกซ์ (Terry Fox), กีกี สมิธ (Kiki Smith), เจมส์ เทอเรลล์ (James Turrell), บิล วิโอลา (Bill Viola), เฟร็ด วิลสัน (Fred Wilson)
ตัวอย่างของศิลปะแนวนี้ที่สร้างให้สัมพันธ์กับกายภาพของพื้นที่ที่แสดงงานคือ ผลงานชื่อ 20/50 ในปี 1987 ของ เฟร็ด วิลสัน เปิดแสดงครั้งแรกในแกลเลอรี ต่อมา เดอะ ซาท์ชิ คอลเลคชัน (The Saatchi Collection) สถาบันทางศิลปะร่วมสมัยชื่อดังของอังกฤษได้จัดซื้อเข้าสู่คลังสะสม ผลงานชิ้นนี้เป็นถังโลหะที่มีความลึกระดับเอวของผู้ใหญ่ สร้างให้พอดิบพอดีกับห้อง มีการทำทางเดินแคบๆให้คนเดินเข้าไปดูได้ ภายในถังนี้บรรจุน้ำมันเครื่องสีดำสนิทเอาไว้ ด้วยความเข้มข้นและสีที่ดำสนิททำให้ของเหลวนี้ดูลึกนิ่งสนิทและสะท้อนภาพได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ผลงานอีกชิ้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างงาน อินสตอลเลชัน ที่สัมพันธ์กับพื้นที่ทั้งมิติทางกายภาพ มิติของประวัติศาสตร์และความหมายของพื้นที่ที่แสดงงาน เจอร์มาเนีย (Germania) โดย ฮันส์ แฮค (Hans Haacke) ปี 1993 สร้างขึ้นที่อาคารนิทรรศการของประเทศเยอรมนี ในนิทรรศการศิลปะชื่อดัง เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ในปีเดียวกันนั้น ที่ประตูทางเข้าอาคาร ศิลปินได้แขวนภาพถ่ายขาวดำภาพผู้นำจอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เมื่อครั้งมาเยือนนิทรรศการศิลปะของเยอรมนีในอาคารแห่งนี้ ในสมัยที่พวกนาซียังเรืองอำนาจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในห้องนิทรรศการนั้นว่างเปล่า มีแต่เพียงพื้นหินที่ถูกขุดขึ้นมาสกัดแตกกระจัดกระจาย คนดูสามารถเดินย่ำไปบนเศษหินเหล่านั้น คนดูจะได้ทั้งสัมผัสกับการเดินบนความง่อนแง่นหักพังและยังได้ยินเสียงการเดินเสียงหินแตกกระทบกันและกันดังสนั่นห้อง บนผนังโค้งโล่งขาวสะอาดมีเพียงชื่อประเทศเยอรมนีในภาษาอิตาลี (ในรูปแบบเดียวกับตัวอักษรชื่ออาคารที่ติดอยู่ด้านนอก)
การจัดวางอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่มีการสร้างวัตถุอะไรที่จับต้องได้ มีเพียงภาพฉายกับสถาปัตยกรรมที่มีอยู่แล้ว และยังจำกัดเวลาการดูเอาไว้แค่ตอนกลางคืนเท่านั้น ในปี 1990 คริซส์ทอฟ โวดิคซ์โค (Krzysztof Wodiczko) ฉายภาพมือขวาที่ถือปืนพก มือซ้ายถือเทียนไขสีขาว ตรงกลางเป็นภาพกลุ่มไมโครโฟนที่อยู่ในตำแหน่งคล้ายจ่อปากคนกำลังกล่าวสุนทรพจน์หรือไม่ก็แถลงข่าว ผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นที่ภายนอกของอาคารพิพิธภัณฑ์ เฮิร์ชฮอร์น มิวเซียม (Hirshhorn Museum) ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ศิลปินเชื้อสายโปแลนด์คนนี้ต้องการจะวิพากษ์อำนาจของสถาบัน โดยใช้อาคารดังกล่าวและภาพต่างๆที่ฉายเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ในการแทนค่าเรื่องราวที่เขาต้องการสื่อสาร
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการจัดวางให้ศิลปะหลายชิ้น หลายสื่อ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึง ความคิดแบบองค์รวม จะมีมานานแล้วในศิลปะไทยประเพณี เช่น การออกแบบและจัดทำศาสนสถาน อย่างพระอุโบสถในศาสนาพุทธ ที่ซึ่งประติมากรรม (พระพุทธรูป), จิตรกรรม (จิตรกรรมฝาผนัง) และสถาปัตยกรรม ได้รับการจัดวางอย่างอย่างเป็นเอกภาพ หรือพิธีกรรมที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นต่างๆมากมาย อาจจะดูคล้ายกับ อินสตอลเลชัน ในศิลปะร่วมสมัยที่นำเข้ามาจากตะวันตก แต่วัฒนธรรมไทยประเพณีและแวดวงศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทยก็ไม่เคยที่จะให้การยอมรับว่า “การจัดวาง” แบบนั้นจะเป็นศิลปะโดยตัวมันเอง และความรู้ใน “การจัดวาง” ดั้งเดิมแบบนั้นก็ไม่เคยที่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นรูปแบบทางศิลปะแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันนี้ การแปลคำว่า อินสตอลเลชัน เป็นภาษาไทยว่า “ศิลปะจัดวาง” ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงการศิลปะของไทยพอสมควร จึงเกิดการเรียกใช้ที่ควบคู่กันไปทั้ง อินสตอลเลชัน และ ศิลปะจัดวาง ทุกวันนี้สื่อใหม่ที่มีอายุสิบปีกว่าแล้วนี้ ได้กลายเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานที่นิยมทำกันทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆทุกที
ศิลปิน: แมทธิว บาร์นี่ย์ (Mathew Barney), โลธาร์ โบมการ์เท็น (Lothar Baumgarten), โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys), เนย์แลนด์ เบลค (Nayland Blake), บาร์บาร่า บลูม (Barbara Bloom), คริสเตียน โบลแทนสกี้ (Christian Boltanski), โจนาธาน โบ
รอฟสกี้ (Jonathan Borofsky), มาร์เซล บรูด์ทิเออรส์ (Marcel Broodthaers), โทนี่ บราวน์ (Tony Brown), คริส เบอร์เด็น (Chris Burden), แดเนียล เบอเร็น (Daniel Buren), โซฟี แซล (Sophie Calle), วอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter de Maria), เทอรี่ ฟอกซ์ (Terry Fox), โฮวาร์ด ฟลายด์ (Howard Fried), เจเนอรัล ไอเดีย (General Idea), แฟรงค์ จิลเล็ท (Frank Gillette), แดน เกรแฮม (Dan Graham), กรุ๊ป แมททีเรียล (Group Material), อินโก กันเธอร์ (Ingo Gunther), ฮันส์ แฮค (Hans Haacke), เดวิด แฮมมอนส์ (David Hammons), เฮเล็นและนิวตัน แฮริสัน (Halen and Newton Harrison), โมนา แฮ็ททวม (Mona Hatoum), ลินน์ เฮิร์ชแมน (Lynn Hershman), เดวิด ไอร์แลนด์ (David Ireland), แพททริค ไอร์แลนด์ (Patrick Ireland), โรเบิร์ต เออร์วิน (Robert Irwin), อิลยา คาบาคอฟ (Ilya Kabakov), ทาดาชิ คาวามาตะ (Tadashi Kawamata), โจเซ็พ โคสุธ (Joseph Kosuth), ยาโยย คูซามา (Yayoi Kusama), วูล์ฟกัง ลาอิบ (Wolfgang Laib), โซล เลวิทท์ (Sol LeWitt), โดนัลด์ ลิพสกี (Donald Lipski), ทอม มาริโอนี (Tom Marioni), พอล แมคคาร์ธี (Paul McCarthy), มาริโอ เมิร์ซ (Mario Merz), แอนเน็ท เมสซาเจอร์ (Annette Messager), อันโตนิโอ มุนตาแดส (Antonio Muntadas), บรูซ นาว์แมน (Bruce Nauman), มิเกล นาวาร์โร (Miquel Navarro), มาเรีย นอร์ดแมน (Maria Nordman), เคดี้ โนแลนด์ (Cady Noland), โลแรน โอ กราดี้ (Lorraine O?Grady), เป็บปอน โอโซริโอ (Pepon Osorio), นัม จุง ไพค์ (Nam June Paik), จูดี้ แฟฟ (Judy Pfaff), เอเดรียน ไพเพอร์ (Adrian Piper), ไมเคิลแองเจโล ปิสโตเล็ทโต้ (Michelangelo Pistoletto), จูเลีย เชอร์ (Julia Scher), ลอร์นา ซิมพ์สัน (Lorna Simpson), แซนดี้ สค็อกลันด์ (Sandy Skoglund), อเล็กซิส สมิธ (Alexis Smith), กีกี สมิธ (Kiki Smith), แนนซี่ สปีโร (Nancy Spero), แดนนี ทิสเดล (Danny Tisdale), แฟรนเซส โทรเรส (Frances Torres), เจมส์ เทอเรลล์ (James Turrell), บิล วิโอล่า (Bill Viola), แคร์รี เม วีมส์ (Carrie Mae Weems), เฟร็ด วิลสัน (Fred Wilson)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น